บันทึกการอบรมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม – ตอนที่ 2

Yesterday is but today’s memory, and tomorrow is today’s dream.

–Khalil Gibran

มาถึงเรื่องโรคอัลไซเมอร์ที่คนมักเรียกแทนโรคสมองเสื่อม ทั้งที่จริงแล้ว โรคอัลไซเมอร์นี้เป็นประเภทหนึ่งของโรคสมองเสื่อมเท่านั้น (เดาว่าชื่อโรคอัลไซเมอร์นี้ ดังเพราะอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง)

โรคอัลไซเมอร์ เป็นอย่างไร

  • เกิดจากการเสียเซลล์ในสมองหรือเสียการสร้างสารสื่อนำประสาท เช่น Acetylcholine
  • ส่วนใหญ่จะไม่ใช่กรรมพันธุ์
  • แต่ต่อให้เป็นกรรมพันธุ์ ก็ทำอะไรไม่ได้ ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวล (จริงไหม) (จากสถิติพบว่า หากผู้ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ก่อนอายุ 65 ลูกมีความเสี่ยงมากหน่อย แต่ถ้าเป็นหลังอายุ 65 ลูกเสี่ยงเพิ่มขึ้นนิดหน่อยเท่านั้น)
  • อาการของโรค มีสามระยะ ระยะแรกพอช่วยตนเองได้ ระยะกลางจะช่วยตนเองไม่ได้ และระยะสุดท้ายคือนอนติดเตียง
  • ระยะเวลาเฉลี่ยของโรคประมาณ 8-10 ปี (รู้ประมาณการแล้ว ผู้เป็นลูกหลานที่ต้องดูแลผู้ป่วย จัดลำดับความสำคัญของชีวิตให้ดีนะคะ) 

    โรคอัลไซเมอร์ รักษาได้ไหม

  • ณ ปัจจุบัน ยังรักษามิได้ แต่ชะลอให้สมองเสื่อมช้าได้ รวมถึงควบคุมอาการทางจิตและพฤติกรรมได้
  • ยาที่ใช้รักษามีราคาสูง ยาจะไปช่วยให้สารสื่อประสาทในสมองถูกทำลายทิ้งน้อยลง
  • แต่เมื่อเวลาผ่านไป แม้สารสื่อประสาทจะถูกทำลายน้อยลง แต่เซลล์สมองก็ยังคงตายไปเรื่อง ๆ ดังนั้น อาการก็จะยังคงแย่ลงตามเวลาที่ผ่านไป
  • อย่างไรก็ดี จากสถิติ คนไข้ที่ได้รับยามีอาการดีกว่าไม่ได้รับยา
  • ยาที่ได้รับอาจมีผลข้างเคียง เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด คลื่นไส้อาเจียน  บางครั้งก็หลีกเลี่ยงด้วยการใช้ยาแปะแทน จะได้ไม่ผ่านทางเดินอาหาร แต่แผ่นแปะก็อาจทำให้เกิดผื่นแดงได้ ร้อยละ 20
  • ตัวอย่างยา เช่น Donepezil, Rivstigmine, Galantamin, Memantine
  • วิตามิน E วิตามิน C  ยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าช่วยรักษาโรค

จะป้องกันโรคสมองเสื่อมได้อย่างไร

ท่อนนี้ อาจจะสนใจกันมากว่า จะป้องกันอย่างไร  คำตอบคือ ต้องป้องกันในหลายด้าน

อาหาร

  • ทานอาหารที่มี Omega 3
  • ทานผัก ผลไม้
  • หลีกเลี่ยงของหวาน ของมัน

ร่างกาย

  • ออกกำลังกาย อย่าเอาแต่นั่ง ๆ นอน ๆ
  • ออกกำลังกายแบบสะสมได้ รวมแล้วให้ได้  150  นาทีต่อสัปดาห์
  • ลดน้ำหนัก อย่าให้น้ำหนักเกิน
  • รักษาและระมัดระวัง โรคความดัน ไขมันสูง เบาหวาน
  • ไม่สูบบุหรี่ ไม่ทานเหล้า
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

สมอง

  • ทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับสมอง เช่น ฟังดนตรี เล่นเกม นั่งสมาธิ เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ

จิตใจ

  • อย่าเครียด
  • ไม่ซึมเศร้า
  • มองโลกในแง่ดี
  • มีงานอดิเรก มีสังคม

ตอนต่อไป เราจะมาเล่าสู่กันฟังถึงปัญหาที่พบบ่อยในการดูแลผู้ป่วย และแนวทางสำหรับการดูแลผู้ป่วยกันค่ะ