บันทึกการอบรมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม – ตอนที่ 1

Memory… is the diary that we all carry about with us.

                               — Oscar Wilde

กลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีโอกาสได้ลางานไปอบรมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมเป็นเวลาหนึ่งวันเต็ม ที่ไปเพราะอยากได้ความรู้ ให้มั่นใจว่า เราจะสามารถดูแลแม่ได้อย่างเหมาะสม พอไปแล้วนอกจากจะได้ความรู้ยังได้รับรู้ประสบการณ์และความรู้สึกของผู้ดูแลในครอบครัวอื่น ๆ ที่มีผู้ป่วยเหมือนกับบ้านเราด้วย วันนี้พอมีเวลา จึงได้เขียนบันทึกไว้ เผื่อจะเป็นประโยชน์แก่ครอบครัวอื่นบ้างไม่มากก็น้อย

เริ่มจากความรู้ทางวิชาการเพื่อทำความเข้าใจเรืื่องโรคสมองเสื่อมกันก่อน

(ขอ disclaim ว่า บทความนี้ไม่ใช่บทความทางการแพทย์ แต่เป็นบันทึกย่อที่เราจดไว้ ถ้าสนใจความรู้ทางการแพทย์จริง ๆ ขอให้ค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลอื่นเพิ่มเติมนะคะ)

โรคสมองเสื่อม เป็นอย่างไร

  • สมองเสื่อม (Dementia)  เป็นโรค
  • ไม่ใช่ผู้สูงอายุทุกคนจะสมองเสื่อม
  • อาการที่พบคือ สูญเสียสมรรถภาพของสมองหลายด้าน ที่เด่น ๆ  คือ “ความจำ” เราจึงมักเห็นอาการหลงลืมก่อน อาจะเริ่มจากหลงลืมเป็นบางครั้ง เป็นบางวัน จนทำให้เราไม่แน่ใจว่าผิดปกติหรือไม่ หรือบางรายก็อาจมีอาการทางจิตร่วมด้วย
  • ระยะแรกนอกจากหลงลืมแล้ว เราอาจเห็นอาการน้อยใจง่าย กังวล ซึมเศร้า
  • อาการจะค่อยเป็นค่อยไป นานเป็นเดือน เป็นปี
  • เสียความสามารถทางการทำงาน สังคม จนกระทั่งการดูแลตนเอง

 


แล้วโรคสมองเสื่อมต่างจากการหลงลืมตามวัย แบบที่ชอบพูดกันว่า แก่แล้วขี้ลืมอย่างไร ?

หลัก ๆ ก็คือ การหลงลืมตามวัย มักมีอาการน้อย ไม่มีผลต่อชีวิตประจำวัน โดยที่ความจำระยะสั้นและการเรียนรู้ใหม่ ๆ จะแย่ลง


สาเหตุของโรคสมองเสื่อม

  1. การเสื่อมสมรรถภาพของเซลล์ (ที่พบบ่อยสุดคือ โรคอัลไซเมอร์) พบได้ประมาณร้อยละ  60
  2. ความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง (vascular dementia) พบได้ประมาณร้อยละ  30
  3. สาเหตุที่รักษาได้ (treatable dementia)  พบได้ประมาณร้อยละ  10  ได้แก่ การ กินยาบางตัวนาน ๆ การดื่มเหล้า โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยลง ภาวะโรคซึมเศร้า เนื้องอก อุบัติเหตุ เชื้อโรคในสมอง และที่ช่วงที่ผ่านมาเห็นมีการส่งคลิปต่อ ๆ กัน ก็คือ โรคน้ำเกินในโพรงสมอง

(บางท่านดูคลิปทางไลน์บ้าง ทาง facebook บ้าง แล้วก็คิดถึงผู้ป่วยใกล้ตัวว่า อาจเป็นโรคน้ำเกินหรือเปล่า จากที่ฟังบรรยายมาพบว่า โรคนี้มิได้เจอบ่อย แต่ก็เกิดได้ ให้สังเกตสามอาการ หากมีควบคู่กันจึงค่อยสงสัยโรคนี้ ได้แก่ สมองเสื่อม เดินช้าเดินเซ และกลั้นปัสสาวะไม่อยู่)

แล้วเมื่อใด จึงจะสงสัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมที่รักษาได้

  • ยังไม่แก่ แต่สมองเสื่อม
  • อาการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
  • มีอาการทางระบบประสาทอืื่น ๆ เช่น ปวดหัว อัมพาต
  • เกิดอุบัติเหตุ
  • รับประทานยาบางชนิด ฯลฯ

(ถ้าถามเรานะ แพทย์มักจะตรวจสอบให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้พลาดโรคที่รักษาได้ก่อน แต่ช่วยกันสังเกตอีกทีก็ดี)


แล้วเมื่อใดควรสงสัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อม

  • หลงลืมง่าย แบบไม่ธรรมดา เช่น ขับรถมาแต่นั่งรถแท็กซี่กลับบ้าน (อืมม แต่แบบนี้มีคนที่เรารู้จักมีอาการอยู่นะ แต่ไม่ยักสมองเสื่อม เป็นพวกขี้ลืมขั้นเทพมากกว่า) เอาแว่นตาไปใส่ไว้ในตู้เย็น เอาเสื้อผ้าไปเก็บในตู้กับข้าว อะไรแบบนี้
  • ทำกิจกรรมที่คุ้นเคย หรือทำเป็นประจำ ไม่ได้
  • มีปัญหาการพูด การใช้ภาษา
  • สับสนเรื่องเวลาและสถานที่
  • ตัดสินใจไม่เหมาะสม
  • ขาดความคิดริเริ่ม ไม่รู้จะทำอะไรดี บางทีก็นอนดีกว่า นอนทั้งวัน
  • อารมณ์ พฤติกรรม และบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไป

“ผู้ป่วยสมองเสื่อม เขาไม่ได้แกล้งเป็นโน่นเป็นนี่ หรือแกล้งคนดูแลแต่อย่างใด แต่เขาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หากเราเข้าใจ ก็จะทำใจได้ และดูแลเขาได้ดียิ่งขึ้น”


โปรดติดตามตอนต่อไป