บันทึกการอบรมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม – ตอนที่ 3 (จบ)

Gratitude is the sign of noble souls.

–Aesop

การดูแลผู้ป่วยสมองเสืื่อมนั้น ต้องมีการเตรียมความพร้อมสำหรับคนที่ดูแลในหลายด้าน ได้แก่

  • การแสวงหาความรู้เกี่ยวกับอาการของโรคและวิธีการดูแล
  • การมีเวลาดูแลผู้ป่วยอย่างจริงจัง
  • การมีทุนทรัพย์ เพราะค่ายายังคงแพงอยู่มาก
  • การรักษาร่างกายให้แข็งแรง พร้อมที่จะดูแล
  • การมีจิตใจที่พร้อมจะดูแลด้วยความรักและความเข้าใจ

ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของผู้ป่วย

สิ่งที่อาจจะทำให้ผู้ดูแลผู้ป่วยวิตกกังวล และเกิดความเครียดได้สูงมาก น่าจะเป็นกรณีที่ผู้ป่วยมีอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว หรือก้าวร้าว โดยหลัก ๆ ผู้บรรยาย ได้แนะนำว่า มีสาเหตุอยู่สามส่วนด้วยกัน คือ ผู้ป่วย สิ่งแวดล้อม และผู้ดูแล

ผู้ป่วย

  • อาจเกิดจากร่างกาย เช่น เจ็บไข้ ไม่สบายตัว หิว ท้องผูก อากาศร้อน หรือสมองเสื่อมลง

สิ่งแวดล้อม

  • เช่น เสียงดัง มีคนมาเยี่ยม มีใครมาพูดให้ไม่สบายใจ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ทำให้เกิดความเครียดแก่ผู้ป่วยทั้งสิ้น

ผู้ดูแล

  • อาจมีความคาดหวังมากไป มีความเครียด ขาดการพักผ่อน สื่อสารกับผู้ป่วยได้ไม่ดี อารมณ์หงุดหงิด หรือซึมเศร้า แบบนี้ก็สร้างแรงกดดันให้ทั้งตนเองและผู้ป่วยเลยทีเดียว

รู้ปัจจัยแล้ว ก็คงต้องลองสังเกต และหาวิธีลดปัจจัยเหล่านี้ลง เพื่อทั้งตัวผู้ป่วยและผู้ดูแลเองนะคะ


การสื่อสารกับผู้ป่วย

เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ผู้ดูแลมักจะเจอกันทั้งนั้น ทำอย่างไรจึงจะสื่อสารกับผู้ป่วยได้ ที่ไปอบรมมาวิทยากรก็ให้คำแนะนำมามากทีเดียว

  • สร้างบรรยากาศเชิงบวกเวลาจะสื่อสาร ไม่ตำหนิ ไม่พูดจารุนแรง
  • สร้างความสนใจกับผู้ป่วย ต้องสนใจกันและกัน (โดยผู้ดูแลต้องตั้งใจสื่อสาร แบบที่พูดไปตอบข้อความในมือถือไปคงไม่ใช่)
  • พูดช้า ๆ พูดชัด ๆ ค่อย ๆ บอกข้อมูลทีละนิด และอาจต้องพูดซักซ้อมหลายรอบ
  • เวลาพูดให้เห็นหน้ากัน อาจจะสะกิดผู้ป่วยให้หันมามองและตั้งใจฟัง
  • ถามคำถามที่ตอบง่าย ๆ มีตัวเลือกสั้น ๆ จำนวนน้อย ๆ อย่าถามคำถามปลายเปิด
  • ฟังผู้ป่วยทั้งหู ตา และใจ
  • แบ่งกิจกรรมที่จะให้ผู้ป่วยทำเป็นขั้นตอนง่าย เช่น แต่งตัว แบ่งเป็น เลือกเสื้อ ใส่เสื้อ เลือกกางเกง ใส่กางเกง
  • ถ้าผู้ป่วยหงุดหงิดให้เบี่ยงเบนความสนใจ การถกเถียงกับผู้ป่วย ไม่เกิดประโยชน์อันใด
  • ห้ามสั่ง ใช้วิธีเจรจา เพราะผู้ป่วยอาจเป็นพ่อแม่เรา ลองนึกถึงใจผู้ป่วย เวลาลูกมาสั่ง
  • สังเกตและคุยกับผู้ป่วยให้มาก ให้เวลามาก ๆ
  • ให้กำลังใจในสิ่งที่ทำได้ ชื่นชมเมื่อสำเร็จในแต่ละขั้นตอนหรือเป้าหมายเล็ก ๆ
  • ไม่ตอกย้ำในสิ่งที่ทำไม่ได้หรือทำผิด

ปัญหาที่พบบ่อย

ผู้ป่วยเดินออกจากบ้าน

  • สาเหตุอาจเกิดจากกระสับกระส่าย หรือสับสนทิศทาง ทานของหวานมากไป ทานกาแฟ เครียด กลัว ระแวงคนในบ้าน
  • แนวทางป้องกัน เช่น กลอนซับซ้อนขึ้น มีผ้าม่านบังประตูทางออก มีพรมสีดำวางไว้ที่ประตู ให้ใช้พลังงานในทางอื่น เช่น ออกกำลังกาย เป็นต้น
  • ทำป้ายติดตามเสื้อ ให้สามารถติดต่อญาติได้ หรือลองเลือกใช้ GPS Tracker  ตอนนี้ราคาไม่แพงแล้ว

ก้าวร้าว กระสับกระส่าย

  • มีสาเหตุ ลองวิเคราะห์สามปัจจัยตามที่ได้เล่ามาข้างบน และแก้ที่สาเหตุ
  • ควรสำรวจและนำอาวุธให้ห่างไกลผู้ป่วย หากเป็นมากควรปรึกษาแพทย์

ถามซ้ำ ๆ 

  • ผู้ดูแลต้องไม่หงุดหงิด
  • เบี่ยงเบนให้ทำอย่างอื่น
  • ไม่บอกแผนการล่วงหน้าที่จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความกังวลและถามซ้ำ ๆ

หวาดระแวง ประสาทหลอน

  • เช่น บอกว่ามีผี หรือเงินหาย
  • ไม่ต่อต้าน อย่าบอกว่า ไม่จริงหรือไม่มี ถ้าคิดว่าเงินหาย อาจใส่เงินไว้ในกระเป๋าเล็กน้อย ตลอดเวลา ถ้ากลัวผีเราไปกอดและนั่งเป็นเพื่อน

กลางคืนไม่นอน นอนกลางวัน

  • เช้า พาไปตากแดด กลางวันเปิดหน้าต่างหรือไฟให้สว่าง ตอนเย็นออกกำลังกายพอควร ตอนนอนปิดไฟ สร้างบรรยากาศสงบเงียบเหมาะแก่การนอน
  • หากเป็นมากควรพบแพทย์ การใช้ยาช่วยหลับควรเป็นทางเลือกท้าย ๆ

ไม่ยอมอาบน้ำ

  • ให้หาสาเหตุก่อน เช่น น้ำร้อนไป เย็นไป อายลูกไม่อยากให้ลูกช่วยอาบ
  • เจอสาเหตุแล้วก็แก้ไขที่ตรงเหตุนั้น

พฤติกรรมทางเพศ

  • ไม่ให้มีสิ่งเร้า
  • ให้กอดตุ๊กตา ของเล่นประเภมหมอน หรือผ้าห่มนุ่ม ๆ
  • อาจต้องบอกให้หยุด โดยใช้เสียงที่มั่นคง ไม่แสดงอารมณ์โกรธ หรือหงุดหงิด

จากการที่ผู้ป่วยจำอะไรมิค่อยได้ แล้วก็อาจจะช่วยเหลือตนเองได้น้อยลงเรื่อย ๆ ผู้ดูแลจึงมีความสำคัญมาก ในการที่จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีไปให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

ในการอบรมครั้งนี้ นอกจากความรู้ทางวิชาการแล้ว เรายังได้แลกเปลี่ยนความรู้สึกและประสบการณ์กับผู้ดูแลผู้ป่วยท่านอื่น ๆ ด้วย ซึ่งเราเชื่อว่าทุกคนมาอบรมด้วยใจที่ต้องการดูแลผู้ป่วยให้ดี ซึ่งใจนี้เองที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน และการดูแลก็จะสำเร็จได้ด้วยใจ

ความรักและความกตัญญู จะเป็นพื้นฐานที่หล่อเลี้ยงให้ผู้ดูแลสามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โดยใช้สติเป็นหลักนำทาง และหากเหนืื่อยล้า ผู้ดูแลก็ต้องพักบ้าง เพื่อที่จะสะสมพลังกลับมาทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ต่อไป เพื่อคนที่เรารัก ผู้ซึ่งครั้งก่อนในยามที่ยังไม่เจ็บไข้ ได้คอยดูแลเราดั่งแก้วตาดวงใจเสมอมา

ขอขอบคุณผู้จัดอบรม และขอเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทุกคนค่ะ

บันทึกการอบรมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม – ตอนที่ 2

Yesterday is but today’s memory, and tomorrow is today’s dream.

–Khalil Gibran

มาถึงเรื่องโรคอัลไซเมอร์ที่คนมักเรียกแทนโรคสมองเสื่อม ทั้งที่จริงแล้ว โรคอัลไซเมอร์นี้เป็นประเภทหนึ่งของโรคสมองเสื่อมเท่านั้น (เดาว่าชื่อโรคอัลไซเมอร์นี้ ดังเพราะอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง)

โรคอัลไซเมอร์ เป็นอย่างไร

  • เกิดจากการเสียเซลล์ในสมองหรือเสียการสร้างสารสื่อนำประสาท เช่น Acetylcholine
  • ส่วนใหญ่จะไม่ใช่กรรมพันธุ์
  • แต่ต่อให้เป็นกรรมพันธุ์ ก็ทำอะไรไม่ได้ ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวล (จริงไหม) (จากสถิติพบว่า หากผู้ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ก่อนอายุ 65 ลูกมีความเสี่ยงมากหน่อย แต่ถ้าเป็นหลังอายุ 65 ลูกเสี่ยงเพิ่มขึ้นนิดหน่อยเท่านั้น)
  • อาการของโรค มีสามระยะ ระยะแรกพอช่วยตนเองได้ ระยะกลางจะช่วยตนเองไม่ได้ และระยะสุดท้ายคือนอนติดเตียง
  • ระยะเวลาเฉลี่ยของโรคประมาณ 8-10 ปี (รู้ประมาณการแล้ว ผู้เป็นลูกหลานที่ต้องดูแลผู้ป่วย จัดลำดับความสำคัญของชีวิตให้ดีนะคะ) 

    โรคอัลไซเมอร์ รักษาได้ไหม

  • ณ ปัจจุบัน ยังรักษามิได้ แต่ชะลอให้สมองเสื่อมช้าได้ รวมถึงควบคุมอาการทางจิตและพฤติกรรมได้
  • ยาที่ใช้รักษามีราคาสูง ยาจะไปช่วยให้สารสื่อประสาทในสมองถูกทำลายทิ้งน้อยลง
  • แต่เมื่อเวลาผ่านไป แม้สารสื่อประสาทจะถูกทำลายน้อยลง แต่เซลล์สมองก็ยังคงตายไปเรื่อง ๆ ดังนั้น อาการก็จะยังคงแย่ลงตามเวลาที่ผ่านไป
  • อย่างไรก็ดี จากสถิติ คนไข้ที่ได้รับยามีอาการดีกว่าไม่ได้รับยา
  • ยาที่ได้รับอาจมีผลข้างเคียง เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด คลื่นไส้อาเจียน  บางครั้งก็หลีกเลี่ยงด้วยการใช้ยาแปะแทน จะได้ไม่ผ่านทางเดินอาหาร แต่แผ่นแปะก็อาจทำให้เกิดผื่นแดงได้ ร้อยละ 20
  • ตัวอย่างยา เช่น Donepezil, Rivstigmine, Galantamin, Memantine
  • วิตามิน E วิตามิน C  ยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าช่วยรักษาโรค

จะป้องกันโรคสมองเสื่อมได้อย่างไร

ท่อนนี้ อาจจะสนใจกันมากว่า จะป้องกันอย่างไร  คำตอบคือ ต้องป้องกันในหลายด้าน

อาหาร

  • ทานอาหารที่มี Omega 3
  • ทานผัก ผลไม้
  • หลีกเลี่ยงของหวาน ของมัน

ร่างกาย

  • ออกกำลังกาย อย่าเอาแต่นั่ง ๆ นอน ๆ
  • ออกกำลังกายแบบสะสมได้ รวมแล้วให้ได้  150  นาทีต่อสัปดาห์
  • ลดน้ำหนัก อย่าให้น้ำหนักเกิน
  • รักษาและระมัดระวัง โรคความดัน ไขมันสูง เบาหวาน
  • ไม่สูบบุหรี่ ไม่ทานเหล้า
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

สมอง

  • ทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับสมอง เช่น ฟังดนตรี เล่นเกม นั่งสมาธิ เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ

จิตใจ

  • อย่าเครียด
  • ไม่ซึมเศร้า
  • มองโลกในแง่ดี
  • มีงานอดิเรก มีสังคม

ตอนต่อไป เราจะมาเล่าสู่กันฟังถึงปัญหาที่พบบ่อยในการดูแลผู้ป่วย และแนวทางสำหรับการดูแลผู้ป่วยกันค่ะ

บันทึกการอบรมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม – ตอนที่ 1

Memory… is the diary that we all carry about with us.

                               — Oscar Wilde

กลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีโอกาสได้ลางานไปอบรมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมเป็นเวลาหนึ่งวันเต็ม ที่ไปเพราะอยากได้ความรู้ ให้มั่นใจว่า เราจะสามารถดูแลแม่ได้อย่างเหมาะสม พอไปแล้วนอกจากจะได้ความรู้ยังได้รับรู้ประสบการณ์และความรู้สึกของผู้ดูแลในครอบครัวอื่น ๆ ที่มีผู้ป่วยเหมือนกับบ้านเราด้วย วันนี้พอมีเวลา จึงได้เขียนบันทึกไว้ เผื่อจะเป็นประโยชน์แก่ครอบครัวอื่นบ้างไม่มากก็น้อย

เริ่มจากความรู้ทางวิชาการเพื่อทำความเข้าใจเรืื่องโรคสมองเสื่อมกันก่อน

(ขอ disclaim ว่า บทความนี้ไม่ใช่บทความทางการแพทย์ แต่เป็นบันทึกย่อที่เราจดไว้ ถ้าสนใจความรู้ทางการแพทย์จริง ๆ ขอให้ค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลอื่นเพิ่มเติมนะคะ)

โรคสมองเสื่อม เป็นอย่างไร

  • สมองเสื่อม (Dementia)  เป็นโรค
  • ไม่ใช่ผู้สูงอายุทุกคนจะสมองเสื่อม
  • อาการที่พบคือ สูญเสียสมรรถภาพของสมองหลายด้าน ที่เด่น ๆ  คือ “ความจำ” เราจึงมักเห็นอาการหลงลืมก่อน อาจะเริ่มจากหลงลืมเป็นบางครั้ง เป็นบางวัน จนทำให้เราไม่แน่ใจว่าผิดปกติหรือไม่ หรือบางรายก็อาจมีอาการทางจิตร่วมด้วย
  • ระยะแรกนอกจากหลงลืมแล้ว เราอาจเห็นอาการน้อยใจง่าย กังวล ซึมเศร้า
  • อาการจะค่อยเป็นค่อยไป นานเป็นเดือน เป็นปี
  • เสียความสามารถทางการทำงาน สังคม จนกระทั่งการดูแลตนเอง

 


แล้วโรคสมองเสื่อมต่างจากการหลงลืมตามวัย แบบที่ชอบพูดกันว่า แก่แล้วขี้ลืมอย่างไร ?

หลัก ๆ ก็คือ การหลงลืมตามวัย มักมีอาการน้อย ไม่มีผลต่อชีวิตประจำวัน โดยที่ความจำระยะสั้นและการเรียนรู้ใหม่ ๆ จะแย่ลง


สาเหตุของโรคสมองเสื่อม

  1. การเสื่อมสมรรถภาพของเซลล์ (ที่พบบ่อยสุดคือ โรคอัลไซเมอร์) พบได้ประมาณร้อยละ  60
  2. ความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง (vascular dementia) พบได้ประมาณร้อยละ  30
  3. สาเหตุที่รักษาได้ (treatable dementia)  พบได้ประมาณร้อยละ  10  ได้แก่ การ กินยาบางตัวนาน ๆ การดื่มเหล้า โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยลง ภาวะโรคซึมเศร้า เนื้องอก อุบัติเหตุ เชื้อโรคในสมอง และที่ช่วงที่ผ่านมาเห็นมีการส่งคลิปต่อ ๆ กัน ก็คือ โรคน้ำเกินในโพรงสมอง

(บางท่านดูคลิปทางไลน์บ้าง ทาง facebook บ้าง แล้วก็คิดถึงผู้ป่วยใกล้ตัวว่า อาจเป็นโรคน้ำเกินหรือเปล่า จากที่ฟังบรรยายมาพบว่า โรคนี้มิได้เจอบ่อย แต่ก็เกิดได้ ให้สังเกตสามอาการ หากมีควบคู่กันจึงค่อยสงสัยโรคนี้ ได้แก่ สมองเสื่อม เดินช้าเดินเซ และกลั้นปัสสาวะไม่อยู่)

แล้วเมื่อใด จึงจะสงสัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมที่รักษาได้

  • ยังไม่แก่ แต่สมองเสื่อม
  • อาการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
  • มีอาการทางระบบประสาทอืื่น ๆ เช่น ปวดหัว อัมพาต
  • เกิดอุบัติเหตุ
  • รับประทานยาบางชนิด ฯลฯ

(ถ้าถามเรานะ แพทย์มักจะตรวจสอบให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้พลาดโรคที่รักษาได้ก่อน แต่ช่วยกันสังเกตอีกทีก็ดี)


แล้วเมื่อใดควรสงสัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อม

  • หลงลืมง่าย แบบไม่ธรรมดา เช่น ขับรถมาแต่นั่งรถแท็กซี่กลับบ้าน (อืมม แต่แบบนี้มีคนที่เรารู้จักมีอาการอยู่นะ แต่ไม่ยักสมองเสื่อม เป็นพวกขี้ลืมขั้นเทพมากกว่า) เอาแว่นตาไปใส่ไว้ในตู้เย็น เอาเสื้อผ้าไปเก็บในตู้กับข้าว อะไรแบบนี้
  • ทำกิจกรรมที่คุ้นเคย หรือทำเป็นประจำ ไม่ได้
  • มีปัญหาการพูด การใช้ภาษา
  • สับสนเรื่องเวลาและสถานที่
  • ตัดสินใจไม่เหมาะสม
  • ขาดความคิดริเริ่ม ไม่รู้จะทำอะไรดี บางทีก็นอนดีกว่า นอนทั้งวัน
  • อารมณ์ พฤติกรรม และบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไป

“ผู้ป่วยสมองเสื่อม เขาไม่ได้แกล้งเป็นโน่นเป็นนี่ หรือแกล้งคนดูแลแต่อย่างใด แต่เขาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หากเราเข้าใจ ก็จะทำใจได้ และดูแลเขาได้ดียิ่งขึ้น”


โปรดติดตามตอนต่อไป