เรื่องราว ริมทาง : หอกลอง

อากาศเย็นช่วงนี้ โชคดีได้ไปเดินเล่นผ่านแถววัดโพธิ์ ตรงบริเวณหน้ากรมการรักษาดินแดน พบสิ่งก่อสร้างรูปทรงน่าสนใจ เพื่อนที่ไปด้วยถามว่า

เอ๊ะ! นี่อะไร

อืมมม ดูป้ายกันไหมเธอ และนี่คือสิ่งที่เราได้ความรู้มาจากการอ่านป้าย

หอกลอง

สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2325 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเหมือนกับหอกลองในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมทำด้วยไม้ ทาด้วยดินสีแดง มีด้วยกัน 3 ชั้น และแต่ละชั้นมีกลองขนาดใหญ่แขวนอยู่ คือ

• ใบแรกชื่อ “ย่ำพระสุรสีห์” ใช้ตีเพื่อบอกเวลา
• ใบที่สองชื่อ “อัคคีพินาศ” ตีเพื่อแจ้งเหตุเพลิงไหม้ และ
• ใบที่สามชื่อ “พิฆาตไพรี” ตีเพื่อแจ้งให้ทราบว่ามีสงคราม

ในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนยอดหอกลองจากมณฑปมาเป็นรูปยอดเกี้ยวแบบจีน และต่อมา รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขกลับไปเป็นยอดทรงมณฑปตามแบบเดิม จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 หอกลองได้ถูกรื้อลงเพื่อใช้ที่ดินสร้างพระราชอุทยาน “สวนเจ้าเชตุ” และถูกสร้างขึ้นใหม่ตามรูปแบบเดิมอีกครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2525 เพื่อฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี

ถามอากู๋ ได้ความเพิ่มว่า กลองใบที่สามนี้ ไม่เคยถูกตีเลย เพราะบ้านเมืองเราสงบ ไม่เคยมีข้าศึกยกทัพมาประชิดกรุง

ขอเชิญชาวพระนคร เดินเล่นรอบเมือง เพื่อเรียนรู้และชื่นชมเรื่องราวริมทาง ยิ่งอากาศเย็นเยี่ยงนี้ ยิ่งดีต่อใจและกาย
นะคะ