บันทึกการอบรมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม – ตอนที่ 3 (จบ)

Gratitude is the sign of noble souls.

–Aesop

การดูแลผู้ป่วยสมองเสืื่อมนั้น ต้องมีการเตรียมความพร้อมสำหรับคนที่ดูแลในหลายด้าน ได้แก่

  • การแสวงหาความรู้เกี่ยวกับอาการของโรคและวิธีการดูแล
  • การมีเวลาดูแลผู้ป่วยอย่างจริงจัง
  • การมีทุนทรัพย์ เพราะค่ายายังคงแพงอยู่มาก
  • การรักษาร่างกายให้แข็งแรง พร้อมที่จะดูแล
  • การมีจิตใจที่พร้อมจะดูแลด้วยความรักและความเข้าใจ

ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของผู้ป่วย

สิ่งที่อาจจะทำให้ผู้ดูแลผู้ป่วยวิตกกังวล และเกิดความเครียดได้สูงมาก น่าจะเป็นกรณีที่ผู้ป่วยมีอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว หรือก้าวร้าว โดยหลัก ๆ ผู้บรรยาย ได้แนะนำว่า มีสาเหตุอยู่สามส่วนด้วยกัน คือ ผู้ป่วย สิ่งแวดล้อม และผู้ดูแล

ผู้ป่วย

  • อาจเกิดจากร่างกาย เช่น เจ็บไข้ ไม่สบายตัว หิว ท้องผูก อากาศร้อน หรือสมองเสื่อมลง

สิ่งแวดล้อม

  • เช่น เสียงดัง มีคนมาเยี่ยม มีใครมาพูดให้ไม่สบายใจ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ทำให้เกิดความเครียดแก่ผู้ป่วยทั้งสิ้น

ผู้ดูแล

  • อาจมีความคาดหวังมากไป มีความเครียด ขาดการพักผ่อน สื่อสารกับผู้ป่วยได้ไม่ดี อารมณ์หงุดหงิด หรือซึมเศร้า แบบนี้ก็สร้างแรงกดดันให้ทั้งตนเองและผู้ป่วยเลยทีเดียว

รู้ปัจจัยแล้ว ก็คงต้องลองสังเกต และหาวิธีลดปัจจัยเหล่านี้ลง เพื่อทั้งตัวผู้ป่วยและผู้ดูแลเองนะคะ


การสื่อสารกับผู้ป่วย

เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ผู้ดูแลมักจะเจอกันทั้งนั้น ทำอย่างไรจึงจะสื่อสารกับผู้ป่วยได้ ที่ไปอบรมมาวิทยากรก็ให้คำแนะนำมามากทีเดียว

  • สร้างบรรยากาศเชิงบวกเวลาจะสื่อสาร ไม่ตำหนิ ไม่พูดจารุนแรง
  • สร้างความสนใจกับผู้ป่วย ต้องสนใจกันและกัน (โดยผู้ดูแลต้องตั้งใจสื่อสาร แบบที่พูดไปตอบข้อความในมือถือไปคงไม่ใช่)
  • พูดช้า ๆ พูดชัด ๆ ค่อย ๆ บอกข้อมูลทีละนิด และอาจต้องพูดซักซ้อมหลายรอบ
  • เวลาพูดให้เห็นหน้ากัน อาจจะสะกิดผู้ป่วยให้หันมามองและตั้งใจฟัง
  • ถามคำถามที่ตอบง่าย ๆ มีตัวเลือกสั้น ๆ จำนวนน้อย ๆ อย่าถามคำถามปลายเปิด
  • ฟังผู้ป่วยทั้งหู ตา และใจ
  • แบ่งกิจกรรมที่จะให้ผู้ป่วยทำเป็นขั้นตอนง่าย เช่น แต่งตัว แบ่งเป็น เลือกเสื้อ ใส่เสื้อ เลือกกางเกง ใส่กางเกง
  • ถ้าผู้ป่วยหงุดหงิดให้เบี่ยงเบนความสนใจ การถกเถียงกับผู้ป่วย ไม่เกิดประโยชน์อันใด
  • ห้ามสั่ง ใช้วิธีเจรจา เพราะผู้ป่วยอาจเป็นพ่อแม่เรา ลองนึกถึงใจผู้ป่วย เวลาลูกมาสั่ง
  • สังเกตและคุยกับผู้ป่วยให้มาก ให้เวลามาก ๆ
  • ให้กำลังใจในสิ่งที่ทำได้ ชื่นชมเมื่อสำเร็จในแต่ละขั้นตอนหรือเป้าหมายเล็ก ๆ
  • ไม่ตอกย้ำในสิ่งที่ทำไม่ได้หรือทำผิด

ปัญหาที่พบบ่อย

ผู้ป่วยเดินออกจากบ้าน

  • สาเหตุอาจเกิดจากกระสับกระส่าย หรือสับสนทิศทาง ทานของหวานมากไป ทานกาแฟ เครียด กลัว ระแวงคนในบ้าน
  • แนวทางป้องกัน เช่น กลอนซับซ้อนขึ้น มีผ้าม่านบังประตูทางออก มีพรมสีดำวางไว้ที่ประตู ให้ใช้พลังงานในทางอื่น เช่น ออกกำลังกาย เป็นต้น
  • ทำป้ายติดตามเสื้อ ให้สามารถติดต่อญาติได้ หรือลองเลือกใช้ GPS Tracker  ตอนนี้ราคาไม่แพงแล้ว

ก้าวร้าว กระสับกระส่าย

  • มีสาเหตุ ลองวิเคราะห์สามปัจจัยตามที่ได้เล่ามาข้างบน และแก้ที่สาเหตุ
  • ควรสำรวจและนำอาวุธให้ห่างไกลผู้ป่วย หากเป็นมากควรปรึกษาแพทย์

ถามซ้ำ ๆ 

  • ผู้ดูแลต้องไม่หงุดหงิด
  • เบี่ยงเบนให้ทำอย่างอื่น
  • ไม่บอกแผนการล่วงหน้าที่จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความกังวลและถามซ้ำ ๆ

หวาดระแวง ประสาทหลอน

  • เช่น บอกว่ามีผี หรือเงินหาย
  • ไม่ต่อต้าน อย่าบอกว่า ไม่จริงหรือไม่มี ถ้าคิดว่าเงินหาย อาจใส่เงินไว้ในกระเป๋าเล็กน้อย ตลอดเวลา ถ้ากลัวผีเราไปกอดและนั่งเป็นเพื่อน

กลางคืนไม่นอน นอนกลางวัน

  • เช้า พาไปตากแดด กลางวันเปิดหน้าต่างหรือไฟให้สว่าง ตอนเย็นออกกำลังกายพอควร ตอนนอนปิดไฟ สร้างบรรยากาศสงบเงียบเหมาะแก่การนอน
  • หากเป็นมากควรพบแพทย์ การใช้ยาช่วยหลับควรเป็นทางเลือกท้าย ๆ

ไม่ยอมอาบน้ำ

  • ให้หาสาเหตุก่อน เช่น น้ำร้อนไป เย็นไป อายลูกไม่อยากให้ลูกช่วยอาบ
  • เจอสาเหตุแล้วก็แก้ไขที่ตรงเหตุนั้น

พฤติกรรมทางเพศ

  • ไม่ให้มีสิ่งเร้า
  • ให้กอดตุ๊กตา ของเล่นประเภมหมอน หรือผ้าห่มนุ่ม ๆ
  • อาจต้องบอกให้หยุด โดยใช้เสียงที่มั่นคง ไม่แสดงอารมณ์โกรธ หรือหงุดหงิด

จากการที่ผู้ป่วยจำอะไรมิค่อยได้ แล้วก็อาจจะช่วยเหลือตนเองได้น้อยลงเรื่อย ๆ ผู้ดูแลจึงมีความสำคัญมาก ในการที่จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีไปให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

ในการอบรมครั้งนี้ นอกจากความรู้ทางวิชาการแล้ว เรายังได้แลกเปลี่ยนความรู้สึกและประสบการณ์กับผู้ดูแลผู้ป่วยท่านอื่น ๆ ด้วย ซึ่งเราเชื่อว่าทุกคนมาอบรมด้วยใจที่ต้องการดูแลผู้ป่วยให้ดี ซึ่งใจนี้เองที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน และการดูแลก็จะสำเร็จได้ด้วยใจ

ความรักและความกตัญญู จะเป็นพื้นฐานที่หล่อเลี้ยงให้ผู้ดูแลสามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โดยใช้สติเป็นหลักนำทาง และหากเหนืื่อยล้า ผู้ดูแลก็ต้องพักบ้าง เพื่อที่จะสะสมพลังกลับมาทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ต่อไป เพื่อคนที่เรารัก ผู้ซึ่งครั้งก่อนในยามที่ยังไม่เจ็บไข้ ได้คอยดูแลเราดั่งแก้วตาดวงใจเสมอมา

ขอขอบคุณผู้จัดอบรม และขอเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทุกคนค่ะ