คาถาลดความอ้วน

ใครที่ตั้งใจจะลดน้ำหนัก เชิญอ่านเรื่องนี้

เคยสงสัยว่า มีคาถาอะไรลดน้ำหนักได้ไหม ยิ่งอายุมาก ยิ่งลดยาก
คุมอาหารก็แล้ว ออกกำลังกายก็แล้ว แต่เผลอไผลแค่บางที น้ำหนักที่ตั้งใจจะบอกลาก็กลับมาหาทุกที

ปีนี้ ก็ตั้งใจต่อเนื่องว่า จะลดจริง ๆ นะ แต่มีอุบายอะไรจะช่วยเราได้บ้างหนอ

ลองค้นดู มีคาถาลดน้ำหนักอยู่จริง ในพระสูตรที่ชื่อว่า โทณปากสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗

ความโดยย่อมีอยู่ว่า พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่กรุงสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเสวยข้าวสารหนึ่งทะนาน (หนึ่งลิตร) แล้วทรงอึดอัด เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าทรงทราบอาการของพระเจ้าปเสนทิโกศลจึงได้ทรงพระคาถาว่า

“มนุษย์ผู้มีสติอยู่ทุกเมื่อ รู้จักประมาณในโภชนะที่ได้มา
ย่อมมีเวทนาเบาบาง เขาย่อมแก่ช้า ครองอายุได้ยืนนาน ฯ”

(คาถานี้ บาลีว่า
มนุชสฺส สทา สตีมโต มตฺตํ ชานโต ลทฺธโภชเน
ตนุกสฺส ภวนฺติ เวทนา สณิกํ ชีรติ อายุ ปาลยนฺติ.)

ณ เวลานั้น มาณพชื่อสุทัศนะ ยืนอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ (หลัง) พระเจ้าปเสนทิโกศลฯ

พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงตรัสเรียกสุทัสสนมาณพมาเพื่อรับสั่งให้เรียนคาถานี้ แล้วเวลาที่พระองค์ทรงบริโภคอาหารก็ให้ว่าคาถานี้ โดยจะให้ค่าตอบแทนวันละ 100 กหาปณะทุกวัน ฯ
(1 กหาปณะ มีอัตราเทียบเท่ากับ 20 มาสก หรือ 1 ตำลึง หรือ 4 บาทไทย)

ต่อมาสุทัสสนมาณพก็ได้ว่าคาถาดังกล่าว ในเวลาที่พระเจ้าปเสนทิโกศล เสวยพระกระยาหาร

และต่อมาอีกพระเจ้าปเสนทิโกศล ก็ทรงมีพระวรกายกระปรี้กระเปร่าดี ทรงลูบพระวรกายด้วยฝ่าพระหัตถ์ ทรงเปล่งพระอุทานนี้ในเวลานั้นว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงอนุเคราะห์เราด้วยประโยชน์ทั้ง 2 คือ ประโยชน์ภพนี้ และประโยชน์ภพหน้าหนอฯ

เพียงแค่ได้รับทราบเรื่องราวนี้ ก็เห็นด้วยกับพระเจ้าปเสนทิโกศล อย่างเกินร้อย

พระพุทธเจ้าทรงอนุเคราะห์พวกเราอย่างมาก เป็นบุญของชีวิตที่ได้เกิดมาในบวรพระพุทธศาสนา

ตอนนี้ เรื่องของความตั้งใจลดน้ำหนักของเราในปีนี้ ก็อยู่ที่ว่า จะตั้งสติได้ในเวลาบริโภคหรือไม่

แบ่งปันเรื่องราว โดยหวังว่า คาถานี้ จะช่วยเพื่อนร่วมอุดมการณ์ได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

ข้อมูลอ้างอิงจาก http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=2631&Z=2656

บันทึกการอบรมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม – ตอนที่ 3 (จบ)

Gratitude is the sign of noble souls.

–Aesop

การดูแลผู้ป่วยสมองเสืื่อมนั้น ต้องมีการเตรียมความพร้อมสำหรับคนที่ดูแลในหลายด้าน ได้แก่

  • การแสวงหาความรู้เกี่ยวกับอาการของโรคและวิธีการดูแล
  • การมีเวลาดูแลผู้ป่วยอย่างจริงจัง
  • การมีทุนทรัพย์ เพราะค่ายายังคงแพงอยู่มาก
  • การรักษาร่างกายให้แข็งแรง พร้อมที่จะดูแล
  • การมีจิตใจที่พร้อมจะดูแลด้วยความรักและความเข้าใจ

ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของผู้ป่วย

สิ่งที่อาจจะทำให้ผู้ดูแลผู้ป่วยวิตกกังวล และเกิดความเครียดได้สูงมาก น่าจะเป็นกรณีที่ผู้ป่วยมีอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว หรือก้าวร้าว โดยหลัก ๆ ผู้บรรยาย ได้แนะนำว่า มีสาเหตุอยู่สามส่วนด้วยกัน คือ ผู้ป่วย สิ่งแวดล้อม และผู้ดูแล

ผู้ป่วย

  • อาจเกิดจากร่างกาย เช่น เจ็บไข้ ไม่สบายตัว หิว ท้องผูก อากาศร้อน หรือสมองเสื่อมลง

สิ่งแวดล้อม

  • เช่น เสียงดัง มีคนมาเยี่ยม มีใครมาพูดให้ไม่สบายใจ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ทำให้เกิดความเครียดแก่ผู้ป่วยทั้งสิ้น

ผู้ดูแล

  • อาจมีความคาดหวังมากไป มีความเครียด ขาดการพักผ่อน สื่อสารกับผู้ป่วยได้ไม่ดี อารมณ์หงุดหงิด หรือซึมเศร้า แบบนี้ก็สร้างแรงกดดันให้ทั้งตนเองและผู้ป่วยเลยทีเดียว

รู้ปัจจัยแล้ว ก็คงต้องลองสังเกต และหาวิธีลดปัจจัยเหล่านี้ลง เพื่อทั้งตัวผู้ป่วยและผู้ดูแลเองนะคะ


การสื่อสารกับผู้ป่วย

เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ผู้ดูแลมักจะเจอกันทั้งนั้น ทำอย่างไรจึงจะสื่อสารกับผู้ป่วยได้ ที่ไปอบรมมาวิทยากรก็ให้คำแนะนำมามากทีเดียว

  • สร้างบรรยากาศเชิงบวกเวลาจะสื่อสาร ไม่ตำหนิ ไม่พูดจารุนแรง
  • สร้างความสนใจกับผู้ป่วย ต้องสนใจกันและกัน (โดยผู้ดูแลต้องตั้งใจสื่อสาร แบบที่พูดไปตอบข้อความในมือถือไปคงไม่ใช่)
  • พูดช้า ๆ พูดชัด ๆ ค่อย ๆ บอกข้อมูลทีละนิด และอาจต้องพูดซักซ้อมหลายรอบ
  • เวลาพูดให้เห็นหน้ากัน อาจจะสะกิดผู้ป่วยให้หันมามองและตั้งใจฟัง
  • ถามคำถามที่ตอบง่าย ๆ มีตัวเลือกสั้น ๆ จำนวนน้อย ๆ อย่าถามคำถามปลายเปิด
  • ฟังผู้ป่วยทั้งหู ตา และใจ
  • แบ่งกิจกรรมที่จะให้ผู้ป่วยทำเป็นขั้นตอนง่าย เช่น แต่งตัว แบ่งเป็น เลือกเสื้อ ใส่เสื้อ เลือกกางเกง ใส่กางเกง
  • ถ้าผู้ป่วยหงุดหงิดให้เบี่ยงเบนความสนใจ การถกเถียงกับผู้ป่วย ไม่เกิดประโยชน์อันใด
  • ห้ามสั่ง ใช้วิธีเจรจา เพราะผู้ป่วยอาจเป็นพ่อแม่เรา ลองนึกถึงใจผู้ป่วย เวลาลูกมาสั่ง
  • สังเกตและคุยกับผู้ป่วยให้มาก ให้เวลามาก ๆ
  • ให้กำลังใจในสิ่งที่ทำได้ ชื่นชมเมื่อสำเร็จในแต่ละขั้นตอนหรือเป้าหมายเล็ก ๆ
  • ไม่ตอกย้ำในสิ่งที่ทำไม่ได้หรือทำผิด

ปัญหาที่พบบ่อย

ผู้ป่วยเดินออกจากบ้าน

  • สาเหตุอาจเกิดจากกระสับกระส่าย หรือสับสนทิศทาง ทานของหวานมากไป ทานกาแฟ เครียด กลัว ระแวงคนในบ้าน
  • แนวทางป้องกัน เช่น กลอนซับซ้อนขึ้น มีผ้าม่านบังประตูทางออก มีพรมสีดำวางไว้ที่ประตู ให้ใช้พลังงานในทางอื่น เช่น ออกกำลังกาย เป็นต้น
  • ทำป้ายติดตามเสื้อ ให้สามารถติดต่อญาติได้ หรือลองเลือกใช้ GPS Tracker  ตอนนี้ราคาไม่แพงแล้ว

ก้าวร้าว กระสับกระส่าย

  • มีสาเหตุ ลองวิเคราะห์สามปัจจัยตามที่ได้เล่ามาข้างบน และแก้ที่สาเหตุ
  • ควรสำรวจและนำอาวุธให้ห่างไกลผู้ป่วย หากเป็นมากควรปรึกษาแพทย์

ถามซ้ำ ๆ 

  • ผู้ดูแลต้องไม่หงุดหงิด
  • เบี่ยงเบนให้ทำอย่างอื่น
  • ไม่บอกแผนการล่วงหน้าที่จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความกังวลและถามซ้ำ ๆ

หวาดระแวง ประสาทหลอน

  • เช่น บอกว่ามีผี หรือเงินหาย
  • ไม่ต่อต้าน อย่าบอกว่า ไม่จริงหรือไม่มี ถ้าคิดว่าเงินหาย อาจใส่เงินไว้ในกระเป๋าเล็กน้อย ตลอดเวลา ถ้ากลัวผีเราไปกอดและนั่งเป็นเพื่อน

กลางคืนไม่นอน นอนกลางวัน

  • เช้า พาไปตากแดด กลางวันเปิดหน้าต่างหรือไฟให้สว่าง ตอนเย็นออกกำลังกายพอควร ตอนนอนปิดไฟ สร้างบรรยากาศสงบเงียบเหมาะแก่การนอน
  • หากเป็นมากควรพบแพทย์ การใช้ยาช่วยหลับควรเป็นทางเลือกท้าย ๆ

ไม่ยอมอาบน้ำ

  • ให้หาสาเหตุก่อน เช่น น้ำร้อนไป เย็นไป อายลูกไม่อยากให้ลูกช่วยอาบ
  • เจอสาเหตุแล้วก็แก้ไขที่ตรงเหตุนั้น

พฤติกรรมทางเพศ

  • ไม่ให้มีสิ่งเร้า
  • ให้กอดตุ๊กตา ของเล่นประเภมหมอน หรือผ้าห่มนุ่ม ๆ
  • อาจต้องบอกให้หยุด โดยใช้เสียงที่มั่นคง ไม่แสดงอารมณ์โกรธ หรือหงุดหงิด

จากการที่ผู้ป่วยจำอะไรมิค่อยได้ แล้วก็อาจจะช่วยเหลือตนเองได้น้อยลงเรื่อย ๆ ผู้ดูแลจึงมีความสำคัญมาก ในการที่จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีไปให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

ในการอบรมครั้งนี้ นอกจากความรู้ทางวิชาการแล้ว เรายังได้แลกเปลี่ยนความรู้สึกและประสบการณ์กับผู้ดูแลผู้ป่วยท่านอื่น ๆ ด้วย ซึ่งเราเชื่อว่าทุกคนมาอบรมด้วยใจที่ต้องการดูแลผู้ป่วยให้ดี ซึ่งใจนี้เองที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน และการดูแลก็จะสำเร็จได้ด้วยใจ

ความรักและความกตัญญู จะเป็นพื้นฐานที่หล่อเลี้ยงให้ผู้ดูแลสามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โดยใช้สติเป็นหลักนำทาง และหากเหนืื่อยล้า ผู้ดูแลก็ต้องพักบ้าง เพื่อที่จะสะสมพลังกลับมาทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ต่อไป เพื่อคนที่เรารัก ผู้ซึ่งครั้งก่อนในยามที่ยังไม่เจ็บไข้ ได้คอยดูแลเราดั่งแก้วตาดวงใจเสมอมา

ขอขอบคุณผู้จัดอบรม และขอเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทุกคนค่ะ

บันทึกการอบรมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม – ตอนที่ 2

Yesterday is but today’s memory, and tomorrow is today’s dream.

–Khalil Gibran

มาถึงเรื่องโรคอัลไซเมอร์ที่คนมักเรียกแทนโรคสมองเสื่อม ทั้งที่จริงแล้ว โรคอัลไซเมอร์นี้เป็นประเภทหนึ่งของโรคสมองเสื่อมเท่านั้น (เดาว่าชื่อโรคอัลไซเมอร์นี้ ดังเพราะอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง)

โรคอัลไซเมอร์ เป็นอย่างไร

  • เกิดจากการเสียเซลล์ในสมองหรือเสียการสร้างสารสื่อนำประสาท เช่น Acetylcholine
  • ส่วนใหญ่จะไม่ใช่กรรมพันธุ์
  • แต่ต่อให้เป็นกรรมพันธุ์ ก็ทำอะไรไม่ได้ ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวล (จริงไหม) (จากสถิติพบว่า หากผู้ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ก่อนอายุ 65 ลูกมีความเสี่ยงมากหน่อย แต่ถ้าเป็นหลังอายุ 65 ลูกเสี่ยงเพิ่มขึ้นนิดหน่อยเท่านั้น)
  • อาการของโรค มีสามระยะ ระยะแรกพอช่วยตนเองได้ ระยะกลางจะช่วยตนเองไม่ได้ และระยะสุดท้ายคือนอนติดเตียง
  • ระยะเวลาเฉลี่ยของโรคประมาณ 8-10 ปี (รู้ประมาณการแล้ว ผู้เป็นลูกหลานที่ต้องดูแลผู้ป่วย จัดลำดับความสำคัญของชีวิตให้ดีนะคะ) 

    โรคอัลไซเมอร์ รักษาได้ไหม

  • ณ ปัจจุบัน ยังรักษามิได้ แต่ชะลอให้สมองเสื่อมช้าได้ รวมถึงควบคุมอาการทางจิตและพฤติกรรมได้
  • ยาที่ใช้รักษามีราคาสูง ยาจะไปช่วยให้สารสื่อประสาทในสมองถูกทำลายทิ้งน้อยลง
  • แต่เมื่อเวลาผ่านไป แม้สารสื่อประสาทจะถูกทำลายน้อยลง แต่เซลล์สมองก็ยังคงตายไปเรื่อง ๆ ดังนั้น อาการก็จะยังคงแย่ลงตามเวลาที่ผ่านไป
  • อย่างไรก็ดี จากสถิติ คนไข้ที่ได้รับยามีอาการดีกว่าไม่ได้รับยา
  • ยาที่ได้รับอาจมีผลข้างเคียง เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด คลื่นไส้อาเจียน  บางครั้งก็หลีกเลี่ยงด้วยการใช้ยาแปะแทน จะได้ไม่ผ่านทางเดินอาหาร แต่แผ่นแปะก็อาจทำให้เกิดผื่นแดงได้ ร้อยละ 20
  • ตัวอย่างยา เช่น Donepezil, Rivstigmine, Galantamin, Memantine
  • วิตามิน E วิตามิน C  ยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าช่วยรักษาโรค

จะป้องกันโรคสมองเสื่อมได้อย่างไร

ท่อนนี้ อาจจะสนใจกันมากว่า จะป้องกันอย่างไร  คำตอบคือ ต้องป้องกันในหลายด้าน

อาหาร

  • ทานอาหารที่มี Omega 3
  • ทานผัก ผลไม้
  • หลีกเลี่ยงของหวาน ของมัน

ร่างกาย

  • ออกกำลังกาย อย่าเอาแต่นั่ง ๆ นอน ๆ
  • ออกกำลังกายแบบสะสมได้ รวมแล้วให้ได้  150  นาทีต่อสัปดาห์
  • ลดน้ำหนัก อย่าให้น้ำหนักเกิน
  • รักษาและระมัดระวัง โรคความดัน ไขมันสูง เบาหวาน
  • ไม่สูบบุหรี่ ไม่ทานเหล้า
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

สมอง

  • ทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับสมอง เช่น ฟังดนตรี เล่นเกม นั่งสมาธิ เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ

จิตใจ

  • อย่าเครียด
  • ไม่ซึมเศร้า
  • มองโลกในแง่ดี
  • มีงานอดิเรก มีสังคม

ตอนต่อไป เราจะมาเล่าสู่กันฟังถึงปัญหาที่พบบ่อยในการดูแลผู้ป่วย และแนวทางสำหรับการดูแลผู้ป่วยกันค่ะ

บันทึกการอบรมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม – ตอนที่ 1

Memory… is the diary that we all carry about with us.

                               — Oscar Wilde

กลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีโอกาสได้ลางานไปอบรมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมเป็นเวลาหนึ่งวันเต็ม ที่ไปเพราะอยากได้ความรู้ ให้มั่นใจว่า เราจะสามารถดูแลแม่ได้อย่างเหมาะสม พอไปแล้วนอกจากจะได้ความรู้ยังได้รับรู้ประสบการณ์และความรู้สึกของผู้ดูแลในครอบครัวอื่น ๆ ที่มีผู้ป่วยเหมือนกับบ้านเราด้วย วันนี้พอมีเวลา จึงได้เขียนบันทึกไว้ เผื่อจะเป็นประโยชน์แก่ครอบครัวอื่นบ้างไม่มากก็น้อย

เริ่มจากความรู้ทางวิชาการเพื่อทำความเข้าใจเรืื่องโรคสมองเสื่อมกันก่อน

(ขอ disclaim ว่า บทความนี้ไม่ใช่บทความทางการแพทย์ แต่เป็นบันทึกย่อที่เราจดไว้ ถ้าสนใจความรู้ทางการแพทย์จริง ๆ ขอให้ค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลอื่นเพิ่มเติมนะคะ)

โรคสมองเสื่อม เป็นอย่างไร

  • สมองเสื่อม (Dementia)  เป็นโรค
  • ไม่ใช่ผู้สูงอายุทุกคนจะสมองเสื่อม
  • อาการที่พบคือ สูญเสียสมรรถภาพของสมองหลายด้าน ที่เด่น ๆ  คือ “ความจำ” เราจึงมักเห็นอาการหลงลืมก่อน อาจะเริ่มจากหลงลืมเป็นบางครั้ง เป็นบางวัน จนทำให้เราไม่แน่ใจว่าผิดปกติหรือไม่ หรือบางรายก็อาจมีอาการทางจิตร่วมด้วย
  • ระยะแรกนอกจากหลงลืมแล้ว เราอาจเห็นอาการน้อยใจง่าย กังวล ซึมเศร้า
  • อาการจะค่อยเป็นค่อยไป นานเป็นเดือน เป็นปี
  • เสียความสามารถทางการทำงาน สังคม จนกระทั่งการดูแลตนเอง

 


แล้วโรคสมองเสื่อมต่างจากการหลงลืมตามวัย แบบที่ชอบพูดกันว่า แก่แล้วขี้ลืมอย่างไร ?

หลัก ๆ ก็คือ การหลงลืมตามวัย มักมีอาการน้อย ไม่มีผลต่อชีวิตประจำวัน โดยที่ความจำระยะสั้นและการเรียนรู้ใหม่ ๆ จะแย่ลง


สาเหตุของโรคสมองเสื่อม

  1. การเสื่อมสมรรถภาพของเซลล์ (ที่พบบ่อยสุดคือ โรคอัลไซเมอร์) พบได้ประมาณร้อยละ  60
  2. ความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง (vascular dementia) พบได้ประมาณร้อยละ  30
  3. สาเหตุที่รักษาได้ (treatable dementia)  พบได้ประมาณร้อยละ  10  ได้แก่ การ กินยาบางตัวนาน ๆ การดื่มเหล้า โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยลง ภาวะโรคซึมเศร้า เนื้องอก อุบัติเหตุ เชื้อโรคในสมอง และที่ช่วงที่ผ่านมาเห็นมีการส่งคลิปต่อ ๆ กัน ก็คือ โรคน้ำเกินในโพรงสมอง

(บางท่านดูคลิปทางไลน์บ้าง ทาง facebook บ้าง แล้วก็คิดถึงผู้ป่วยใกล้ตัวว่า อาจเป็นโรคน้ำเกินหรือเปล่า จากที่ฟังบรรยายมาพบว่า โรคนี้มิได้เจอบ่อย แต่ก็เกิดได้ ให้สังเกตสามอาการ หากมีควบคู่กันจึงค่อยสงสัยโรคนี้ ได้แก่ สมองเสื่อม เดินช้าเดินเซ และกลั้นปัสสาวะไม่อยู่)

แล้วเมื่อใด จึงจะสงสัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมที่รักษาได้

  • ยังไม่แก่ แต่สมองเสื่อม
  • อาการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
  • มีอาการทางระบบประสาทอืื่น ๆ เช่น ปวดหัว อัมพาต
  • เกิดอุบัติเหตุ
  • รับประทานยาบางชนิด ฯลฯ

(ถ้าถามเรานะ แพทย์มักจะตรวจสอบให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้พลาดโรคที่รักษาได้ก่อน แต่ช่วยกันสังเกตอีกทีก็ดี)


แล้วเมื่อใดควรสงสัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อม

  • หลงลืมง่าย แบบไม่ธรรมดา เช่น ขับรถมาแต่นั่งรถแท็กซี่กลับบ้าน (อืมม แต่แบบนี้มีคนที่เรารู้จักมีอาการอยู่นะ แต่ไม่ยักสมองเสื่อม เป็นพวกขี้ลืมขั้นเทพมากกว่า) เอาแว่นตาไปใส่ไว้ในตู้เย็น เอาเสื้อผ้าไปเก็บในตู้กับข้าว อะไรแบบนี้
  • ทำกิจกรรมที่คุ้นเคย หรือทำเป็นประจำ ไม่ได้
  • มีปัญหาการพูด การใช้ภาษา
  • สับสนเรื่องเวลาและสถานที่
  • ตัดสินใจไม่เหมาะสม
  • ขาดความคิดริเริ่ม ไม่รู้จะทำอะไรดี บางทีก็นอนดีกว่า นอนทั้งวัน
  • อารมณ์ พฤติกรรม และบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไป

“ผู้ป่วยสมองเสื่อม เขาไม่ได้แกล้งเป็นโน่นเป็นนี่ หรือแกล้งคนดูแลแต่อย่างใด แต่เขาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หากเราเข้าใจ ก็จะทำใจได้ และดูแลเขาได้ดียิ่งขึ้น”


โปรดติดตามตอนต่อไป

Surround yourself with trees

Did you know that being around trees makes you healthy? There’s an interesting article in Scientific American that talks about how trees help to clear the air of pollution.

Trees can capture common pollutants and toxic gases, such as:  carbon monoxide, nitrogen oxides, sulfur dioxide and lead. A recent study established that more than 850 human lives per year are saved by trees, thanks their ability to reduce air pollution. Air pollution can cause respiratory illnesses that can often be fatal.

A Spanish study has also shown that if children are exposed to greenery in their neigbourhood and at school, they have better attention and memory skills.

Clearly, the cutting down of trees to make way for high-rise developments or subdivisions could have serious consequences for our environment and health.

Photo credit: K. Martins.