ป้ากะน้า ตอน เค้กที่อร่อยที่สุดในประเทศไทย


เรื่องเล่าของป้ากะน้า

เพราะชะตาพามาเจอกัน แต่ละวันจึงฮาเฮ


เพราะคุณค่าของการให้ น่าจะอยู่ที่การคิดถึง และใส่ใจ อย่างจริงจัง

จบตอนที่แล้วไว้แบบนี้ เพราะที่น้าเชื่อว่า ป้าเขาคิดแบบนั้นจริง ๆ เนื่องจากใน wish list  ของป้าปีนี้ มีสิ่งที่ป้าอยากได้มากคือ เค้กที่อร่อยที่สุดในประเทศไทย

โห…ร้านไหนนะ แล้วจะไปซื้อยังไงนะ ถ้าเกิดร้านตั้งอยู่ไกลสุดกู่

ไม่ต้องห่วง ป้าไม่ได้ซีเรียสขนาดนั้น หาชื่อร้านมาให้ป้าก็พอนะ ป้าไปซื้อเอง

แล้วน้าจะหาชื่อร้านมาจากไหนกันนะ

อ่อ ป้าแนะให้ การทำวิจัย มีทั้งแบบปฐมภูมิ และทุติยภูมิ น้าควรทำทั้งทุติยภูมิ โดยพึ่งพาถามไถ่อากู๋ก่อน จากนั้น ค่อยสำรวจแบบปฐมภูมิ คือ ไปถามคนจริง ๆ อีกที

ไหมล่ะ

…คุณค่าของการให้ อยู่ที่การคิดถึง และใส่ใจ อย่างจริงจัง

อืมม…ไม่ลองไม่รู้นะจ๊ะ

น้าเริ่มลงมือค้นหาด้วยคำค้น เค้กที่อร่อยที่สุดในประเทศไทย

ใครบอกว่า อากู๋ ถามได้ทุกอย่างนะ  เรื่องนี้ อากู๋บ่ายเบี่ยงที่จะตอบ ตอบว่าร้านนี้ฟินบ้าง ร้านนี้น่าไปกินบ้าง เค้กร้านนี้น่ารักบ้าง แถมไม่ใช่อะไรที่เป็นที่สุดในประเทศ ส่วนใหญ่แค่ระดับจังหวัด

ความหวังเลือนลางจากการพึ่งพาอากู๋ ถ้างั้นลองไปสำรวจแบบปฐมภูมิดูบ้าง ทำ Poll บน Line สิ ง่ายและเร็ว

จริงด้วย ถามปุ๊บได้คำตอบปั๊บ ถ้าแข่งกันในเรื่อง  response time บนโลกโซเชียล ประเทศเราคงได้ที่หนึ่ง

แต่ช้าก่อน คำตอบที่ได้นี่สิ

  • ยากนะ เค้กมีหลายแบบ หลายรส
  • ไม่ได้เคยกินทั่วประเทศ จะไปรู้ได้ไง
  • อร่อยของแต่ละคนเหมือนกันปะ อะไรเรียกว่าอร่อย
  • blah blah

สรุปว่า ล้มเหลว ทั้งการเก็บข้อมูลปฐมภูมิและทุติยภูมิ

น้าลองวิเคราะห์ดูว่า สาเหตุของการวิจัยที่ failed fast  ขนาดนี้คืออะไร ได้คำตอบแบบคิดเอง ดังนี้

  • ขอบเขตการวิจัยที่กว้างมาก ตั้งแต่คำว่าเค้ก ที่มีไม่รู้กี่ร้อยชนิด ไปจนถึงประเทศไทย ที่มีพื้นที่ประมาณ 513,120 ตารางกิโลเมตร
  • นิยามของคำว่า “อร่อย” มีความแตกต่างกันอย่างมากสำหรับแต่ละปัจเจกชน จะมองที่ผิวสัมผัส รสชาติ บางคนก็ให้ความสำคัญกับบรรยากาศ และประโยชน์ต่อสุขภาพ โอ้ว เยอะ!!!…. ยิ่งไปผูกกับตัวแปรคือ เค้กที่มีหลากชนิดแล้ว อะไรเรียกว่า “อร่อย” นะ

การศึกษาเบื้องต้นนี้ ทำให้รู้ว่า ถ้าทำวิจัยคราวหน้า อาจจะเริ่มจากอะไรที่แคบลงมาหน่อย เช่น เค้ก chocolate ที่ไหน อร่อยที่สุดในกรุงเทพมหานคร โดยนิยามคำว่า “อร่อย”ให้ชัดเจนขึ้น

จะว่าล้มเหลวก็ไม่เชิง  อย่างน้อยการวิจัยนี้ ก็ ใส่ใจ และจริงจัง นะ